ฤดูแห่งการขาขาด
ย่างเข้าฤดูฝนชาวบ้านทางแถบชนบทตามแนวชายแดนไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา แม้กระทั่งไทย-เมียนมาร์ มักจะมีอาชีพเสริมจากการจับอึ่งอ่าง กบและหาของป่าจำพวกเห็ด และหน่อไม้มาจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมหาเลี้ยงครอบครัวเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ซึ่งมันมีราคาสูงถึงกิโลละร้อยกว่าบาท จึงทำให้ประสบกับอุบัติเหตุเหยียบทุ่นระเบิดและกับระเบิดที่ยังคงหลงเหลือตกค้างจากการสู้รบในอดีต ..ช่วงต้นเดือน ที่จังหวัดตาก ต่อมาก็ที่จังหวัดสระแก้วสองครั้ง อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ที่จังหวัดอุบลราชธานี ล่าสุดก็เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ย้อนกลับไปที่จังหวัดสระแก้วอีกครั้งและเป็นพื้นที่อำเภอตาพระยาเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา แม้นว่าจะมีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแล้วก็ตาม ทั้งยังมีป้ายแจ้งเตือนให้เห็นเด่นชัดว่าพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยและยังคงมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเหตุใด?
เหตุใดจึงเกิดขึ้นในฤดูนี้..เพราะว่าฤดูฝนเมื่อฝนตกลงมาทำให้พื้นดินที่แห้งและแข็งกลับนุ่ม เมื่อมีคนไปเหยียบโดนทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่จึงทำให้มันเกิดทำงานขึ้นแม้มันจะเป็นระเบิดเก่าที่ถูกฝังมานานเป็นเวลาสามสิบกว่าปีแต่มันก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ไม่เลือกว่าเป็นใคร ทหาร ชาวบ้าน ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กหรือคนชรา ระเบิดพวกนี้จะทำงานเมื่อมีแรงมากระทำตั้งแต่12 ปอนด์ขึ้นไป บ้างก็พิการขาขาด บ้างก็เสียชีวิต ส่วนมากที่เหยียบมักจะเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบอยู่กับที่ "PMN"หรือที่ชาวบ้านทั่วๆไปเรียกว่า "ปิ่นโต"เนื่องเพราะมันมีหูยื่นออกมาสองข้างเหมือนปิ่นโตซึ่งผลิตในสหภาพโซเวียตเดิมในอดีต
ป้ายแจ้งเตือนพื้นสีแดงมีหัวกระโหลกไขว้มีอักษรเขียนไว้เด่นชัดว่า "อันตรายวัตถุระเบิด" มันยังคงไร้ค่า..หากพวกเราไม่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพียงเพราะต้องการดำรงชีพ...ขอภาวนาอย่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกเลย...
-ขอขอบคุณภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2559
-ขอขอบคุณภาพจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1
-ขอขอบคุณภาพจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3